ไข่เค็มโฮมเมดจาก ‘กากกาแฟ’ ทำง่าย เค็มน้อย อร่อยทุกฟอง

ดอกไม้กินได้จากพลาสม่าเย็น ผลงานนักวิจัย มทร.ธัญบุรี
25 มกราคม, 2023
มทร.ธัญบุรี เจ้าเหรียญทอง คว้าถ้วยพระราชทาน ฯ พร้อมรับธง”กีฬาราชมงคลแห่งประเทศไทย” ครั้งที่ 38
12 กุมภาพันธ์, 2023
ดอกไม้กินได้จากพลาสม่าเย็น ผลงานนักวิจัย มทร.ธัญบุรี
25 มกราคม, 2023
มทร.ธัญบุรี เจ้าเหรียญทอง คว้าถ้วยพระราชทาน ฯ พร้อมรับธง”กีฬาราชมงคลแห่งประเทศไทย” ครั้งที่ 38
12 กุมภาพันธ์, 2023

อาจารย์คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี ส่งเสริมไอเดียนำกากกาแฟเหลือทิ้ง มาทำเป็นส่วนผสมสำหรับพอกทำไข่เค็ม พร้อมเผยองค์ความรู้สู่การอบรมเชิงปฏิบัติการ ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ณ ไบเทค บางนา

กากกาแฟ (Coffee Grounds) เป็นเศษของเมล็ดกาแฟ ที่เหลือจากการนำมาคั่ว บด และกลั่นเป็นน้ำกาแฟ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่นิยมดื่มมากที่สุดในโลก กากกาแฟจึงเป็นของเหลือทิ้งจากกรรมวิธีของการแปรรูปกาแฟและร้านกาแฟสด ซึ่งกากของเสียนี้อาจส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ในอนาคต เนื่องจากมีปริมาณมากในแต่ละวันหากมีการจัดการที่ไม่เหมาะสม แม้ว่ากากกาแฟจะเป็นของเหลือ แต่เนื่องจากมีสารหลายชนิดอยู่ในกากกาแฟ ซึ่งมีสรรพคุณและประโยชน์มากมาย ทำให้กากกาแฟสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

คุณสมบัติที่ดีของเมล็ดกาแฟ ส่งผลดีไปสู่กากกาแฟหลายด้านด้วยกัน เช่น (1) กลิ่นความหอมของกาแฟ ที่เฉพาะตัว (2) มีสีน้ำตาลเข้ม ให้ความเป็นธรรมชาติ หลายคนจึงเลือกนำใช้ในงานศิลปะ ทั้งใช้วาดภาพ ใช้ย้อมผ้า (3) ใช้เป็นวัสดุกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์และช่วยดูดซับกลิ่นต่าง ๆ (4) ใช้ด้านการเกษตร เช่น นำมาเป็นส่วนผสม ปรับปรุงคุณภาพเพื่อทำปุ๋ย (5) นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม รวมถึงกากกาแฟยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีกมากมายตามการเพิ่มมูลค่าและการนำไปใช้ประโยชน์

จุดเริ่มต้นของการเลือกกากกาแฟมาใช้ประโยชน์ในการพอกไข่เค็ม เริ่มต้นจากการศึกษาปัญหาเบื้องต้น กาแฟเป็นเครื่องดื่มขึ้นชื่อที่ได้รับความนิยม มีร้านธุรกิจกาแฟเกิดขึ้นและกระจายตัวทั่วประเทศ จากการขยายตัวนี้ทำให้มีเศษเหลือทิ้งของกาแฟ หรือที่เรียกว่า ‘กากกาแฟ’ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลอลักษณ์ เสถียรรัตน์ พร้อมด้วยผู้ช่วยวิทยากร ผู้ช่วยศาสตราจารย์ไชยสิทธิ์ พันธุ์ฟูจินดา ผู้ช่วยศาสตราจารย์กฤติน ชุมแก้ว นางพัชรีภรณ์ ชุบไธสง และนางสาวศิริพร ศรีแก้ว คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) จึงร่วมมือ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ‘การทำไข่เค็มกากกาแฟ’

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เลอลักษณ์ เสถียรรัตน์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้ร่วมมือกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จัดฝึกอบรมการเรียนรู้การทำไข่เค็มกากกาแฟ พร้อมแนะนำวิธีการเลือกไข่เป็ดที่ดี ในงานวันนักประดิษฐ์ ประจำปี 2566 (Thailand Inventors’Day 2023) ภายใต้แนวคิดขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุม ไบเทค บางนา

“เราได้ใช้องค์ความรู้ที่ได้ศึกษามาพัฒนา ประยุกต์ ต่อยอดผลิตภัณฑ์ โดยให้เกิดเป็นนวัตกรรมที่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับตัวสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ และเห็นถึงความสำคัญและข้อดีของกากกาแฟ ที่เหลือทิ้งและสามารถนำมาใช้ประโยชน์ ซึ่งมีจุดเด่นอย่างหนึ่งก็คือมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว ช่วยในการกำจัดกลิ่นได้เป็นอย่างดี และสามารถดูดซับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มชนิดพอก โดยใช้กากกาแฟผสมดินพอกไข่ ดูดซับกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ เมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะให้รสชาติที่มีความเค็มน้อย สะอาด และมีกระบวนการผลิตที่ง่ายไม่ซับซ้อน ถือเป็นกิจกรรมที่เปิดให้บริการวิชาการแก่บุคคลภายนอก รวมถึงสามารถนำไปต่อยอด เพื่อฝึกเป็นอาชีพได้อีกด้วย” หัวหน้าโครงการ กล่าว

สูตรสำคัญของไข่เค็มกากกาแฟ มีส่วนผสมคือ ไข่เป็ดสดจำนวน 10 ฟอง ดินสอพอง 2 ถ้วยตวง กากกาแฟ 1 ถ้วยตวง เกลือ 1 ถ้วยตวง น้ำเปล่าต้มสุก 1 ถ้วยตวง ขี้เถ้าแกลบ 1 ถ้วยตวง ขั้นตอนการทำเริ่มต้นจาก (1) นำส่วนผสม ดินสอพอง กากกาแฟ เกลือ และน้ำเปล่าต้มสุก มาคลุกเคล้าให้เข้ากันและให้ส่วนผสมมีความเข้มข้นพอเหมาะ ไม่เหลวหรือข้นมากเกินไป (2) นำไข่เป็ดมาพอกดินให้หนาพอควร แล้วคลุกเถ้าแกลบเพื่อป้องกันไม่ให้ไข่ติดกัน (3) นำไข่บรรจุในถุงพลาสติก และกล่องเพื่อป้องกันการระเหยของน้ำ ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มกากกาแฟนี้ ใช้ระยะเวลาประมาณ 10 วัน สามารถทอดเป็นไข่ดาวเค็มได้ และประมาณ 20 วัน ต้มเป็นไข่เค็มได้

ด้าน ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมงานวันนักประดิษฐ์ประจำปี 2566 และอบรมเชิงปฏิบัติการเรียนรู้การทำไข่เค็มกากกาแฟ กล่าวว่า ตนและเพื่อนมาหาไอเดียในการจัดทำโครงงาน และเห็นว่าการอบรมนี้น่าสนใจ ระยะเวลาไม่นานจึงเข้าร่วมเรียนรู้การทำไข่เค็มโฮมเมดกากกาแฟ โดยได้ลงมือทำจริง มีขั้นตอนการทำไม่ยุ่งยาก ใช้อุปกรณ์น้อยและหาได้ง่ายในครัวเรือน ถือเป็นการถนอมอาหารในรูปหนึ่งที่ที่มีคุณภาพ มีความความปลอดภัย และทีมวิทยากรยังได้คำแนะนำวิธีการเลือกไข่เป็ดสด ที่แดงและสะอาด เพื่อเป็นวัตถุดิบเบื้องต้นของผลิตภัณฑ์ และมองว่าสร้างเป็นอาชีพได้อีกด้วย

การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาศักยภาพ ส่งเสริมการศึกษา รวมถึงฝึกอาชีพแก่เยาวชนและนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นนี้เพื่อการศึกษาวิจัยและต่อยอด รวมถึงสอดรับไปกับแนวทางการกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยวิธีใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์ ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่ม โดยผู้สนใจสามารถขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่คณะเทคโนโลยีคหกรรมศาสตร์ มทร.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี หรือโทร. 02 549 3161.

 

เรื่องโดย : อลงกรณ์  รัตตะเวทิน (ฝ่ายข่าว)

เผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

ขอบคุณรูปบางส่วนจาก Facebook Page : nrctofficial (สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ)

 

 

อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ (ฝ่ายข่าว) กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

Comments are closed.