การแบ่งปันความรู้ สู่รางวัลเรียนดี ‘วิศวกรรมสถานฯ’ หนุ่มวิศวะโยธา มทร.ธัญบุรี

คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า: นักศึกษามทร.ธัญบุรีคิดค้น พรีไบโอติกส์จากเมล็ดขนุน
24 มกราคม, 2023
ดอกไม้กินได้จากพลาสม่าเย็น ผลงานนักวิจัย มทร.ธัญบุรี
25 มกราคม, 2023
คอลัมน์ ไอคิวทะลุฟ้า: นักศึกษามทร.ธัญบุรีคิดค้น พรีไบโอติกส์จากเมล็ดขนุน
24 มกราคม, 2023
ดอกไม้กินได้จากพลาสม่าเย็น ผลงานนักวิจัย มทร.ธัญบุรี
25 มกราคม, 2023

“เราได้ – เพื่อนก็ได้” คือเสน่ห์อย่างหนึ่งของการติว และเป็นจุดเริ่มต้นให้ นายเตมีย์ ทับเที่ยง หรือ “ปัตร” หนุ่มวิศวกรรมโยธา ชั้นปีที่ 4 มทร.ธัญบุรี เลือกใช้เพื่อเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการเรียนวิศวะ จนได้รับเหรียญรางวัลเรียนดี 1 ใน 48 คนทั่วประเทศ จากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ประจำปี 2565

นายเตมีย์ ทับเที่ยง “ปัตร” เป็นหนุ่มใต้ จ.สุราษฎร์ธานี หลังเรียนจบจากโรงเรียนเกาะพะงันศึกษา ก็มุ่งตรงต่อปริญญาตรีที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) สาขาวิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ในด้านครอบครัวคุณพ่อทำธุรกิจด้านอาหาร ส่วนแม่ทำงานในหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง มีพี่น้องทั้งหมด 3 คน โดยตนเป็นลูกคนกลาง ค่าใช้จ่ายทางบ้านก็เยอะ จึงต้องกู้เรียน จากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ตั้งแต่อยู่ ม.5 จนถึงตอนนี้

“ด้วยความเป็นครอบครัวจากสุราษฎร์ฯ เปลี่ยนมาอยู่หอพักตามลำพัง สำหรับชีวิตในรั้วมหาวิทยาลัย เป็นเรื่องที่ต้องปรับตัวมากพอสมควร เงินที่ใช้จ่ายทุกวันนี้มาจาก 2 ทาง คือเงินที่แม่ส่งมาให้ กับ กยศ. การจัดสรรค่าใช้จ่ายก็ยากเช่นเดียวกับการที่เราต้องปรับตัว”

ตอนนี้กำลังเรียนวิศวกรรมโยธา เหตุผลที่เลือกเรียนเพราะอยากเอาความรู้ด้านวิศวกร ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ สำรวจ วิเคราะห์ ก่อสร้าง บำรุงรักษา รวมถึงบริหารจัดการ ซึ่งความรู้เหล่านี้อยากเอากลับไปพัฒนาบ้านเกิด ที่เกาะพงัน  และตอนนี้ผมเรียนอยู่ ชั้นปีที่ 4 โดยเกรดเฉลี่ยสะสมล่าสุด 3.94 และได้รับเหรียญรางวัลเรียนดี ประจำปี พ.ศ. 2565 จากนายเกษม วัฒนชัย องคมนตรี ผู้แทนพระองค์ที่ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง โดยวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (สวท.) ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อการศึกษาและวิจัยทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผู้คัดเลือก จากทั้งหมด 48 คนทั่วประเทศ “เป็นรางวัลที่ผมดีใจมากที่สุด เหมือนเราก้าวไปอีกขั้นหนึ่งของความสำเร็จ ก่อนที่จะเรียนจบ และรางวัลนี้ทำให้ใครหลายคนมีรอยยิ้มที่ร่วมดีใจไปกับผมด้วย โดยเฉพาะแม่”

เรียนยังไงถึงได้ดี คำถามที่ชวนให้หาคำตอบ ปัตร เล่าว่า จากประสบการณ์ตอนเรียนมัธยม ได้เรียนกับเพื่อน ทำรายงานกับเพื่อน ติวกับเพื่อน มันแฮปปี้มาก แล้วก็สอบผ่านโดยที่ผลเป็นที่น่าพอใจ เลยเกิดความคิดที่ว่า “เรียนและติวไปพร้อมกัน” มันไปได้ไกลกว่าการเรียนและติวคนเดียวเพียงลำพัง ผมเริ่มเรียนและติวกับเพื่อนตั้งแต่ปีแรกที่เข้ามาเรียนที่ มทร.ธัญบุรี เลย

แม้จะมีเสียงกระทบมาบ้าง ในทำนองอวดเก่ง หาแสง อะไรทำนองนี้ ผมก็ยืนยันว่า “ไม่ได้หาแสงจากการติวหรือการสอนเพื่อน” แต่เป็นการย้ำเตือนความรู้ ทบทวนในสิ่งที่เรียนมาแล้วไปพร้อม ๆ กันกับแก๊งเพื่อน เพราะอะไรก็ตามถ้าเรียนมาแล้ว หากไม่ทิ้งไป ไม่ได้ทบทวน รับรองได้เลย 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ลืมแน่นอน ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์หนึ่งของการเรียนวิศวะ ที่พาผมและเพื่อนก้าวข้ามความยากในเส้นทางวิศวะมาได้ถึงตอนนี้ ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมที่จะแบ่งเวลาทบทวนเรื่องที่เรียนมาด้วยตัวเองร่วมด้วย เมื่อเจอขั้นตอนไหน จุดไหนที่งง ๆ ให้ถามอาจารย์โดยตรง อย่าปล่อยผ่านไป

เมื่อเครียดและเหนื่อยล้าจากการเรียน ปัตรเล่าว่า ตนเลือกทำกิจกรรม มีทั้งกิจกรรมตอนว่างจริง ๆ ก็จะเล่นเกมส์ เพราะเกมส์ทำให้สมองตื่นตัว รู้จักคิดแบบมีชั้นเชิง และเคยอ่านในอินเทอร์เน็ตเขาบอกว่า เกมส์ช่วยชะลอความแก่ได้ เพราะบางเกมส์เมื่อเราเล่นชนะ ร่างกายเราจะหลั่งสารแห่งความสุข หากไม่เล่นเกมส์ก็จะออกกำลัง โดยเฉพาะวิ่งและแบตมินตันภายในมหาวิทยาลัย อีกกิจกรรมประเภทหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือกิจกรรมที่มหาวิทยาลัย คณะ หรือภาควิชาจัดขึ้น เราก็เข้าไปช่วย เข้าไปมีส่วนร่วมในสโมสรนักศึกษาฯ “อันนี้ทำให้เราได้เพื่อนเพิ่มขึ้น ได้เรียนรู้วิธีการทำงาน การแก้ปัญหาร่วมกัน” โดยปัตรยืนยันว่า สำหรับตนแล้ว ถ้าเรียนอย่างเดียว คงเครียด คงปวดหัวแน่ ๆ  และน่าจะส่งผลต่อสุขภาพ ดังนั้นกิจกรรมนอกเหนือจากการเรียนเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะบรรเทาและเยียวยาได้ ภายใต้การบริหารจัดการอย่างสมดุล

ปัตร เล่าอีกด้วยว่า เวลาที่มีปัญหาหรือรู้สึกท้อ จะเลือกจัดการชีวิตโดยการหาที่ปรึกษาที่ไว้ใจ บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้น เชื่อไหมว่าเมื่อได้บอกออกไปแล้ว สิ่งแรกที่ได้คือเราได้ความสบายใจ โล่งใจ สองเราได้ตัวเลือก หรือคำตอบมากขึ้น เห็นทางออกมากขึ้น โดยมากจะไปปรึกษากับท่านอาจารย์ ผศ.สุคม ลิปิเลิศ ส่วนอีกท่านหนึ่งที่ชอบสไตล์การสอนก็คือ รศ.ดร.ปิติศานต์ กร้ำมาตร รวมถึงพี่ ๆ ที่เป็นเจ้าหน้าที่ในภาควิชา “การที่เรามีหลักยึด หรือมีต้นแบบที่ดี มันเป็นส่วนเสริมให้ชีวิตเราดีขึ้น มั่นคงขึ้น”

“เรื่องราวและเทคนิคเฉพาะตัวของการเรียน เป็นสิ่งที่ผมใช้จริง ใช้อยู่ถึงตอนนี้ อาจจะดูธรรมดาทั่วไป แต่มันช่วยตีกรอบ และเป็นการปักหมุดที่สำคัญ ให้ผมตั้งเป้าหมายและเดินได้อย่างมั่นใจ ส่วนในอนาคต เส้นทางเริ่มชัดเจนขึ้น ทั้งการเป็นวิศกรอย่างเต็มตัว กลับไปทำงานที่บ้านเกิด อีกทางหนึ่งคือเรียนต่อ พัฒนาตนเองเพิ่มเติมด้านภาษา หากได้รับทุนการศึกษา ก็จะเป็นโอกาสที่ดีมาก อีกด้านหนึ่งก็อยากเป็นอาจารย์ เพราะเชื่อว่าตนเองสื่อสารและถ่ายทอดได้ดี อันนี้ผมได้ยินฟีคแบคจากเพื่อนในกลุ่มมา” ปัตร อธิบาย

นี่เป็นการเผยเทคนิคเล็ก ๆ ของหนุ่มวิศวะ มทร.ธัญบุรี ที่มีแนวคิด “เรียนและติวไปพร้อมกันนะ” อาจจะจุดประเด็นต้นแบบให้กับรุ่นน้องและเพื่อนคนอื่นต่อไปได้ด้วย

 

เรื่องโดย : อลงกรณ์  รัตตะเวทิน (ฝ่ายข่าว)
เผยแพร่โดย : กองประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี

 

 

อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
อลงกรณ์ รัตตะเวทิน
นักประชาสัมพันธ์ชำนาญการ (ฝ่ายข่าว) กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี

Comments are closed.